Split กับดิโอคลิเชียนผู้ยิ่งใหญ่&โหดร้าย [บอลข่าน 5 – Croatia]

เรามุ่งหน้าลงใต้มาเรื่อยๆ จนมาถึงเมือง Split ที่นอกจากเป็นท่าสำคัญแล้ว ยังเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของโครเอเชียด้วย
เมืองนี้ยังอากาศดี ไม่ร้อนหรือไม่หนาวเกินไป จึงเป็นที่นิยมตั้งแต่อดีต

เมื่อพูดถึงเมือง Split เราจะนึกถึงพระราชวังดิโอคลิเชียน (Diocletian Palace) ของจักรพรรดิ์ดิโอคลิเชียนผู้โหดร้ายนั่นเอง แต่ถึงจะโหด ท่านก็มีความสำคัญต่อหน้าประวัติศาสตร์มาก เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังนะคะ
(UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนรับรองพระราชวังดิโอคลิเชียนเป็นมรดกโลกด้วยค่ะ)

ชื่อเมือง Split มาจากภาษาละตินดั้งเดิมคือ Spalato พอเป็นภาษาโครแอทเลยกลายเป็น Split
ไม่ได้มีความหมายที่แปลว่า ตัด แยกเหมือนภาษาอังกฤษนะคะ

สรุปง่ายๆ คือเมื่อมาถึงเมืองสปลิท  ต้องมาเยือนพระราชวังดิโอคลิเชี่ยน และมีสิ่งที่ Must know & Must See คือต้องรู้-ต้องดู หลักๆ  นอกจากความเป็นเมืองท่าอันคึกคัก คือ
1. พระราชวังดิโอคลิเชียน และจักรพรรดิ์ดิโอคลิเชียน
2. สฟิงช์ ท่านหญิงผู้ผ่านกาลเวลาสามพันห้าร้อยปี
3. St. Gregory of Nin กับความลับของหัวแม่โป้ง

เรามาดูกันค่ะ จะเล่าให้ฟัง

split1

split_edit2

ชมบรรยากาศแห่งความเป็นเมืองท่าสำคัญก่อน

split_edit3

split_edit4

split_edit5

มาถึงเรื่องของจักรพรรดิดิโอคลิเชียนผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์กันบ้างนะคะ ยุคของท่านจะเป็นยุคเริ่มต้นของจักรวรรดิ์โรมันตะวันออก หรือที่เรียกว่าจักรวรรดิ์ไบแซนไทน์นั่นเอง

Snapseed 2

ดิโอคลิเชียนเดิมเป็นสามัญชน รับราชการในกองทัพโรมัน แต่มีความทะเยอทะยาน ประกอบกับเป็นคนเก่ง ทำให้ขึ้นตำแหน่งสูงได้เร็วจนเป็นถึงผู้นำกองทัพ ยุคนั้นทหารเริ่มมีอำนาจสูงกว่า senate ขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่ว่าครอบงำจักรพรรดิ์ได้ และสังหารจักรพรรดิ์โรมันทิ้งได้ถ้าไม่ชอบใจ

เมื่อกำจัดจักรพรรดิ์เดิมไปได้ กองทัพก็เลือกดิโอคลิเชียนขึ้นเป็น Emperor หรือจักรพรรดิ์โรมัน ปกครองอยู่ถึง 20 ปี หลังจากนั้นก็ทรงอยากเกษียณละ เลยมาสร้างพระราชวังดิโอคลิเชียนอยู่ที่เมืองสปลิทนี่เอง ที่เลือกเมืองนี้เพราะอากาศดี อบอุ่น และทำเลดีเยี่ยม เหมาะแก่การพักผ่อนในบั้นปลาย (และอยากกลับบ้านเกิดด้วย ทรงคุ้นเคยกับอากาศที่สปลิท)

split_edit18

ตัวพระราชวังมี 4 ประตู ได้แก่ Gold Entrance สำหรับจักรพรรดิ์ ตามด้วย Silvergate, Bronze gate (For delivery purpose)  and Iron gate และเดิมมีถึง 16 หอด้วยกันแต่ถูกทำลาย ปรับเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัยไปหมด เพราะตั้งแต่หมดยุคดิโอคลิเชียน ชาวเมืองอื่นๆ ที่หนีการรุกรานข้าศึกศัตรู ก็เข้ามาหลบภัยและทำดัดแปลงเป็นที่อยู่อาศัยไปก็เยอะ แม้กระทั่งในผนังเองก็เป็นร้านค้า ที่อยู่อาศัย

split_edit25

 

ที่ว่าดิโอคลิเชี่ยนเป็นจักรพรรดิ์ผู้โหดร้ายนั้น ก่อนอื่นต้องเล่าก่อนว่าชาวโรมันในอดีตต่อต้านศาสนาคริสต์อย่างรุนแรง ทรงนับถือเทพเจ้าองค์อื่นๆ ตามความเชื่อโรมัน รวมถึงนับถือยกย่องตัวเองเป็นพระเจ้าไปด้วย

ใครไม่เห็นด้วยกับพระองค์ หรือใครนับถือคริสต์ จะทรงจับไปตัดหัว หรือสังหารด้วยวิธีต่างๆ แม้แต่โยนลงไปในบ่อสิงโตก็มี (อย่างเรื่องของเซนต์ลอว์เรนซ์แห่งโทรเกียร์ก็เช่นกัน) เรียกง่ายๆ ว่ามีวิธีสังหารโหดสำหรับคนที่คิดต่อต้าน พวกชาวคริสต์โดนฆ่าล้างทำลายไปก็มากจึงโกรธแค้นดิโอคลิเชี่ยนมาก เมื่อสิ้นดิโอคลิเชียน พวกชาวเมืองโซลิน หรือซาโลนา (Solin / Salona) ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์จึงลุกฮือทำลายทุกอย่างที่เป็นของพระองค์ทั้งจักรวรรดิ์ที่ดิโอคลิเชียนขยายไปถึงนั่นเลยทีเดียว พูดง่ายๆ ก็คือ ลบจักรพรรดิ์ดิโอคลิเชียนออกจากหน้าประวัติศาสตร์เป็นการแก้แค้น

เพราะการแก้แค้นศัตรูที่เป็นถึงจักรพรรดิ์ผู้ยิ่งใหญ่ ก็คือการลบออกจากหน้าบันทึกประวัติศาสตร์!

ส่วนทีเก็บพระศพของดิโอคลิเชียน ชาวคริสต์ผู้โกรธแค้นก็ขุดเอาร่างพระองค์จากสุสานอันโอ่อ่าใหญ่โตโยนทิ้งลงทะเลไปเลย เท่ากับว่าพระศพจักรพรรดิ์ผู้ยิ่งใหญ่นี่อยู่ที่ไหนสักแห่งในท้องทะเลอาเดรียติก และสลายไปตามกาลเวลาเสียอย่างนั้น

แล้วก็เอาร่างนักบุญดอมนิอุสมาใส่ในโลงแทน (St. Domius) สร้างเป็นโบสถ์ St. Dominus Cathedral (เซนต์ดอมนิอุส) ขึ้นมา เซนต์ดอมนิอุสคือบิชอปชาวคริสต์ ที่เป็นคนเมืองโซลินนั่นเอง การทำอย่างนี้ก็ถือเป็นการเอาคืนดิโอคลิเชียน
พอถึงศตวรรษที่ 13 ถึงมีการสร้าง Bell Tower หรือหอระฆังขึ้นมาตรงโบสถ์นั้น

หลักฐานเดียวที่ยังเหลือให้เห็นหน้าตาของจักรพรรดิ์ดิโอคลิเชียนในตำนานก็คือหน้าพระองค์บนเหรียญ สมัยก่อนสปลิทมีเหรียญใช้เป็นพระพักตร์ท่าน ก็เลยยังเหลือให้รู้จักหน้าตา

มุมนี้ใช้เป็นฉากถ่ายทำเรื่อง Game of Throne ด้วยค่ะ
ตรงนี้เรียกว่า Peristyle ของพระราชวัง ภาษาไทยเรียกว่าระเบียงคด

split_edit15

มาถึงเรื่องของท่านหญิงคนนี้กันบ้าง ที่ต้องเรียกอย่างให้เกียรติเพราะสฟิงซ์ตัวนี้เป็นผู้หญิง แถมผ่านกาลเวลามากว่าสามพันห้าร้อยปี!

จริงๆ ดิโอคลิเชียนได้ขนสฟิงซ์จากอียิปต์มาตกแต่งพระราชวังนี้มากมายหลายตัว แต่มีเพียง 3 ตัวที่เหลือรอดมาถึงทุกวันนี้ 3 ตัวมหัศจรรย์ที่ยืนหยัดผ่านกาลเวลาหลายศตวรรษมาได้จนให้เราๆ ได้เห็นเป็นบุญตา

split_edit7

สฟิงซ์นี้เก่าแก่กว่า 3500 ปี ย้อนไปถึงสมัยฟาโรห์ทุตโมสที่3 เลย
แล้วยังเหลือรอดมาได้ เพลินว่าคงขลังมากๆ เลยเพราะท่ามกลางสฟิงซ์อีกมากมายที่ถูกขนถ่ายมาจากมาตุภูมิอียิปต์ เมื่อถึงสปลิทก็ยังผ่านการบุกรุก ยึดครอง สงคราม และแผ่นดินไหว ภัยธรรมชาติอีกนับไม่ถ้วน สฟิงซ์หลายตัวถูกทำลาย สูญหาย แต่มี 3 ตัวนี้ที่ยังอยู่

ตัวแรกคือตัวที่หมอบอยู่บนระเบียงคดกลางลานพระราชวัง (Peristyle)  คือตัวในรูปนี้
ตัวที่สองอยู่หน้าวิหารเทพจูปิเตอร์ ซึ่งอยู่ในเขตพระราชวังนี้
ตัวที่สาม อยู่ในพิพิธภัณฑ์ในเมือง

ลองจินตนาการดูว่าท่านหญิงสฟิงซ์นี้หมอบอยู่ตรงนี้ เฝ้ามองเหตุการณ์ชีวิตผู้คนผันเปลี่ยนไปตามกาลเวลามานับพันปี! เธอไม่ธรรมดาแน่ๆ

อย่าไปลบหลู่เธอเชียว

มาถึงเรื่อง รูปปั้นของ St. Gregory บ้าง
St. Gregory หรือที่ภาษาโครแอทเรียกว่า Grgur เป็นบิชอปชาวโครเอเชียแท้ดั้งเดิม ที่ปกครองโบสถ์ Nin (Grgur Ninski) เราเลยเรียกว่า St.Gregory of Nin มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 10 ซึ่งก็อยู่ในยุคกลาง

ท่านเกรโกรี่นี้มีบทบาทสำคัญกับชาวโครแอทและศาสนาคริสต์มาก เพราะท่านเป็นผู้สนับสนุนต่อสู้ให้ใช้ภาษาท้องถิ่น
ต้องเล่าก่อนว่ายุคนั้นศาสนจักรเรืองอำนาจ (ยุคกลางอ่ะเนอะ) และตำรา คาถา พิธีการต่างๆ ล้วนเป็นภาษาละตินทั้งนั้น ซึ่งทำให้มีแค่คนบางกลุ่มเข้าถึงเท่านั้น ท่านเกรโกรี่คนนี้ก็เลยผลักดัน ส่งเสริมให้ใช้ภาษาถิ่น เรียกว่าหัวก้าวหน้า กึ่งหัวขบถเลยก็ว่าได้

split_edit8

และความพยายามครั้งนั้นของท่านเลยมีส่วนให้ภาษาโครแอทกลายเป็นภาษาประจำชาติ และช่วยให้ศาสนาคริสต์มั่นคงเป็นปึกแผ่นมากขึ้น (เพราะคนเข้าถึงได้มากขึ้นผ่านภาษาที่ชาวเมืองเข้าใจ)
มองในทางสังคมและประวัติศาสตร์ ก็ถือว่าท่านมีส่วนในการสร้างอัตลักษณ์ หรือ identity ของเผ่าโครแอทให้ชัดขึ้นด้วย

split_edit9

 

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องนิ้วโป้งทองวาววับอันเลื่องลือของรูปปั้นท่านเซนต์เกรโกรี่กันบ้าง
ที่มีสีทองผิดจากนิ้วอื่นๆ ไม่ใช่เพราะทำจากวัสดุต่างออกไปหรอกนะคะ แต่เป็นเพราะคนแห่กันไปถูต่างหาก!

ทำไมต้องถูด้วย…

split_edit10

เพราะเค้ามีความเชื่อกันน่ะสิว่าถ้าถู ขัดแล้วขอพร… พรนั้นจะเป็นจริง

คนก็แห่แหนกันมาใหญ่ ทั้งคนโครเอเชียเอง และนักท่องเที่ยวต่างชาติ
เชื่อไม่เชื่อ อย่างน้อยๆ ก็ขอลูบ ขอสัมผัสสักนิดหน่อยก็ยังดี
นานๆ เข้าก็เลยเงาวับอร่ามอย่างที่เห็น

เค้าว่าท่านศักดิ์สิทธิ์เอาการเลยนะคะ มีคนที่ขอพรสมหวังก็หลายคน เช่น สอบได้คะแนนดี ได้เจอคู่ ได้แต่งงาน การงานพุ่ง

เพลินก็ขอบ้างเหมือนกัน ก็แอบลุ้นอยู่ว่าจะเป็นยังไง

 

อย่างที่บอกไปว่าผ่านมาหลายยุคสมัย มีคนเข้ามาดัดแปลงเป็นที่อยู่อาศัยก็เยอะ พระราชวังดิโอคลิเชียนเลยค่อนข้าง mixed up ไปหมด คือมีร้านค้า อาคารพาณิชย์ บ้านเรือนที่อยู่อาศัยปนไปกับพระราชวัง

เพิ่งมีในปี 1979 ที่ UNESCO เข้ามาคุ้มครอง ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ห้ามคนย้ายเข้ามาหรือสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มเติมอีก

แต่คนที่อยู่อยู่แล้วก็อยู่ต่อไปได้ แค่ห้ามทำอะไรเพิ่มอีก

บรรยากาศรอบๆ พระราชวังที่ผุพัง กร่อนไปตามกาลเวลา ที่เห็นได้ชัดคือร้านรวง บ้านเรือนปะปนไปกับพระราชวัง ก็แปลกดีค่ะ ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ในสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่

 

split_edit16

เดินเลาะออกมาจากประตูด้านข้างก็มาถึงร้านรวงชอปปิ้ง
ประเทศแถบบอลข่านนี่น้ำผึ้งดังมาก แต่ละที่จะมีน้ำผึ้งจากสารพัดดอกมานำเสนอ และเคลมว่าตัวเองเป็นน้ำผึ้งแท้

ร้านนี้อยู่หลังพระราชวังค่ะ คือจากลานกว้าง เลี้ยวขวาเดินออกมาจะเจอร้านรวงอย่างที่บอก และะมีแผงน้ำผึ้งนี่สะดุดตามาก เพราะมาจากดอกนานาชนิด
คนขายใจดี แม้พูดอังกฤษไม่เก่งแต่พยายามอธิบายหนักมาก
ว่าดอกนั้น ดอกนี้ แล้วให้เราดม ชิมจนสาแก่ใจ

เพลินซื้อมาขวดสองขวด เพราะซื้อจากเจ้าอื่นมาแล้วอย่างละสามสี่ขวด กินกันทั้งปีก็ไม่หมด

split_edit20

หลังจากชมพระราชวังเสร็จเราก็ออกมาเดินเล่นหน้าชายหาดที่ขายอาหารไว้เพียบ
ลองขนมท้องถิ่นสักหน่อย เป็นแป้งทอดกลมๆ ราดชอคโกแลตและน้ำตาลไอซิ่ง คือลูกใหญ่มาก ตอนแรกสิ่งที่คาดหวังคือรสชาติแบบขนมไข่หงส์ แต่ไม่ใกล้เคียงเลยแฮะ
ไม่ค่อยปลื้มขนมนี้เท่าไหร่ แต่ชิมพอให้รู้

ตบท้ายที่ร้านอาหารที่คนต่อคิวยาวเหยียด ชื่อ Nevera

split_edit22

 

split_edit24

ปลาหมึกเค้าอร่อยเชียว

split_edit21

 

กินดึกอีกตามเคย เติมพลังสำหรับดูบรอฟนิกพรุ่งนี้

 

 

2 Comments

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.