
มาเมืองตรัง นอกจากต้องกินหมูย่าง หรือขนมเปี๊ยะซอย 9 แล้ว เราจะเห็นว่าตามสถานที่ต่าง ๆ มักตั้งชื่อตามผู้ว่าราชการเมืองตรังในอดีตอย่างพระยารัษฎานุประดิษฐ์ แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อเมืองตรังอย่างมาก
มาตรังหลายรอบแล้วเพิ่งมีโอกาสได้มาพิพิธภัณฑ์บ้านพระยารัษฎา เพราะก่อนหน้านี้เค้าปิดงดเข้าชม คราวนี้เปิดแล้วดีใจรีบมาเลย ได้ยินได้ฟังเรื่องราวของท่านมาแล้วประทับใจมาก เพราะท่านเป็นคนบุกเบิก สร้าง และพัฒนาเมืองตรังขึ้นมาให้เป็นเมืองสำคัญ เจริญก้าวหน้า แล้วยังเป็นผู้นำยางพาราต้นแรกเข้ามาปลูกในไทยด้วยนะ!

วันนี้ก็เลยอยากจะพามารู้จักท่าน ผ่าน ‘บ้าน’ ที่ท่านอยู่อาศัยจริง ๆ เมื่อ 120 กว่าปีมาแล้ว!
เข้าสู่ประตูอดีต

ขับรถออกจากอำเภอเมืองไปราว 30 นาทีสู่อ.กันตัง เราก็จะถึงบ้านพระยารัษฎาซ่อนตัวอยู่ลิบ ๆ หลังรั้วเหล็กโปร่งและทิวไม้เขียวครึ้มรอบด้าน ชวนให้นึกถึงเรือนโบราณสมัยก่อน เรือนหลังนี้ปัจจุบันทำเป็นพิพิธภัณฑ์โดยอนุรักษ์ข้าวของเครื่องใช้ สภาพเรือนให้เหมือนสมัยที่ท่านยังอยู่
พวกเราไปถึงกันตอนบ่ายสามโมงเศษ ๆ (เค้าปิด 16.30) แดดร้อนนิด ๆ ฟ้ามัวหน่อย ๆ จอดรถถนนฝั่งตรงข้าม แล้วค่อยข้ามถนนสู่อาณาเขตเนื่องจากเค้าห้ามเอารถเข้า เดินขึ้นเนินเตี้ยไปแป๊บหนึ่งก็เห็นเรือนไม้สีเขียวอมฟ้าเก่าคร่ำคร่า ล้อมรอบด้วยทิวไม้เขียวขจีรอบด้าน ที่นี่ไม่มีไฟฟ้า อาศัยแสงธรรมชาติ เห็นเป็นแสงอาทิตย์ส่องลอดเรือนไม้ดูมืดสลัว วังเวง ไม่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมนอกจากเราสามคน ไม่มีใครอื่น ทุกอย่างเงียบสงัด


เพื่อนร่วมทางทั้งสองคนของเราเคยมาแล้วจึงถอดรองเท้าหน้าประตูเรือนอย่างคุ้นเคย เราถึงกับผงะเมื่อมองไปในบ้าน เห็นพระยารัษฎานั่งเด่นเป็นสง่าอยู่บนเก้าอี้กลางโถงเรือน!

พระยารัษฎาจริง ๆ แต่เป็นรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้ง เหมือนจริงมากจนใจหล่นวูบ!
ขณะหัวใจเริ่มกลับไปเต้นปกติ หันไปฝั่งตรงข้ามหุ่นขี้ผึ้ง มีเด็กสาวหน้าตาคมขำนั่งเก้าอี้ ใจกำลังคิดว่าเป็นหุ่น สาวน้อยก็ยิ้มอวดฟันขาว หันมาส่งเสียง
“สวัสดีค่า”
โอ๊ย ตกใจยิ่งกว่าเห็นหุ่นขี้ผึ้ง ก็ตอนที่นึกว่าหุ่นขี้ผึ้งขยับได้นี่แหละ
สรุปสาวน้อยคนนั้นคือคนดูแล เค้านั่งเงียบ ๆ ไม่นั่งไถมือถือเล่น ดูปฏิบัติหน้าที่แม้ไม่มีนักท่องเที่ยว นางทำหน้าที่กึ่งไกด์ไปในตัว หลังจากพวกเรามาถึง สักแป๊บก็มีนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็ก เป็นสาว ๆ สี่คนมาถึงพอดี น้องผู้ดูแลจึงรับหน้าที่ไกด์บรรยายเล่าความเป็นมา
ภายในเรือนมีแสงวอมแวมดูได้บรรยากาศ พวกเราไหว้หุ่นขี้ผึ้งท่านพระยารัษฎาฯกันก่อน รูปปั้นเหมือนจริงมาก แม้แต่เส้นรอยย่นตรงนิ้วมือ สีหน้าท่านเป็นผู้ใจดี อารมณ์ดี ดวงตาฉลาดเฉลียว รูปร่างเจ้าเนื้อ แต่งกายภูมิฐานสะอาดสะอ้าน เข้าสูตรท่านเจ้าคุณที่เราคุ้นเคยจากในละคร

เราเริ่มจากโถงกลางบ้านที่จะเจอตั้งแต่เข้ามาครั้งแรก มีชุดเก้าอี้รับแขก และรูปปั้นท่านนั่งเด่นกลางโถง แยกเลี้ยวไปทางซ้าย เป็นห้องเก็บภาพเกร็ดประวัติผู้ว่ารุ่นต่าง ๆ โดยแยกต่อเป็นลานชานบ้านด้านหลัง ตอนแรกเรานึกว่าเป็นลานครัว แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ เพราะลานครัวอยู่อีกฝั่ง
พอย้อนกลับมาที่โถงกลางบ้าน เดินเลยต่อไปจะผ่านทางเดินที่กั้นเป็นห้องเก็บอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ทั้งยังมีโต๊ะเครื่องแป้งโบราณตั้งอยู่ดูผิดที่ผิดทาง น้องไกด์เล่าว่าเป็นโต๊ะเครื่องแป้งของท่านพระยาเลย แต่ย้ายลงมาไว้ข้างล่างเพราะหนักมาก ถ้าอยู่ต่อข้างบนกลัวปัญหาพื้นทรุดตัว
แล้วเรายังได้เห็นกล้องถ่ายรูปตัวแรกของเมืองตรังอีกด้วย


ทางเดินที่กั้นเป็นห้องเหล่านี้มีของใช้น่าสนใจหลายอย่าง ทั้งเครื่องกรองน้ำจากปีนัง เขียนกำกับไว้ว่าต้นกำเนิดไกลกว่านั้น อ่างขูดที่มีปุ่มหนามแหลม พอผ่านทางเดินมาสู่ทางเดินกลางแจ้งไปสู่โรงครัวแยกด้านหลัง


ที่เราชอบคือในโรงครัวมีกระทะใหญ่ หม้อต้ม หม้อดินเผา โถแกงวางเรียงในหลุมตรงเคาน์เตอร์ มีที่มาว่าเพราะท่านพระยารัษฎาจะรับประทานอาหารตรงเวลา ดังนั้นคนครัวจะต้องทำทุกอย่างพร้อมกันและพร้อมเสิร์ฟ มีอ่างล้างจาน ล้างผักที่เปิดระบายน้ำอย่างเป็นระบบ


จากห้องครัวเราก็เดินย้อนกลับมาโถงกลาง จะมีห้องกั้นเล็ก ๆ ซ้ายมือของประตูเข้าเรือน เป็นส่วนบันไดขึ้นไปชั้นบน
ชั้นสองนี้ โถงกลางประดับรูปภาพต้นตระกูล ณ ระนอง ของท่านพระยารัษฎา ซึ่งเจ้าเมืองตรัง ทำไมนามสกุล ณ ระนอง เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังค่ะ

ว่าแต่ภรรยาท่านเยอะดีแท้ ที่มีรูปประดับผนังก็สามสี่คนแล้ว ไกด์เล่าว่าจริง ๆ มีอีกเป็นสิบเลย แต่คนที่มีทายาทให้มีแค่ที่ปรากฎบนภาพนี้เท่านั้น



ที่น่าทึ่งคือ ดูจากภายนอก เรือนนี้เหมือนบ้านเรือนไทยแบบสมัยก่อนที่หลังไม่ใหญ่มาก ไม่ได้โอ่อ่าหรูหราสมกับตำแหน่งเจ้าเมืองอย่างที่คิด พอเข้าไปก็ดูดีแบบเรียบง่ายไม่ใหญ่โต ดูผู้ดีแบบสมถะ แต่พอขึ้นไปข้างบนกลับเพดานสูงกว่าที่คิด ดูโปร่งโล่ง และมีพื้นที่ค่อนข้างมาก



จากโถงกลาง ถ้าหันหน้าเข้าส่วนที่เป็นภาพสาแหรกตระกูล ด้านขวาคือห้องนอนพระยารัษฎา มีเตียงสี่เสาคลุมม่านขาว สภาพยังดี ดูแข็งแรง มีโต๊ะเครื่องแป้งและอ่างล้างหน้าเล็ก

ๆ ถัดไปทางขวา กั้นเป็นโถงห้องนั่งเล่นสำหรับจิบน้ำชาและรับแขก เป็นที่ที่พระยารัษฎาจะมานั่งจิบน้ำชา ขบคิดข้อราชการทุกเช้า บ่าย และพักผ่อนอิริยาบถ
ถัดจากห้องนอนท่านไปทางซ้าย จะผ่านห้องคุณหญิงปรุงปลื้ม ธิดาคนโตของพระยารัษฎาที่เกิดจากนางแคล้ว ภรรยาคนแรก ทั้งห้องเรียบง่าย มีแค่เตียงสี่เสาคลุมม่านขาว และตู้เสื้อผ้า กับโต๊ะเครื่องแป้งเล็ก ๆ รอบชั้นสองทำชานระเบียงรอบด้าน ให้บรรยากาศโปร่งสบาย ลมโกรก




ไม่น่าเชื่อว่าร้อยกว่าปีมาแล้ว ยังรักษาไม่ให้ผุพังไปตามกาลเวลา แม้จะเก่าคร่ำคร่ามาก ๆ แต่ก็ถือว่าสภาพดี สมบูรณ์มาก ๆ เลยค่ะ

ที่นี่ไม่มีค่าเข้าชม แต่มีกล่องบริจาคเพื่อการทำนุบำรุงรักษา การดูแลซ่อมแซมต้องใช้เงินเยอะมากเลยนะคะ ใครไปชม ช่วยกันบริจาคให้เค้าเยอะหน่อยก็ดีค่ะ
ทีนี้มารู้จักพระยารัษฎานุประดิษฐ์ หรือ คอซิมบี๊ กันค่ะ หลายคนอาจแปลกใจว่า คอซิมบี๊คือชื่ออะไร ฟังดูจีน แล้วทำไมถึงต้นตระกูลใช้นามสกุล ณ ระนอง มีคำตอบค่ะ
#คอซิมบี๊
พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เกิดวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2400 และถึงแก่อนิจกรรมวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2456 มีเชื้อสายชาวจีน แต่เป็นข้าราชการชาวไทย ระหว่างเป็นเจ้าเมืองตรัง ได้พัฒนาเมืองให้เจริญก้าวหน้าจนกลายเป็นเมืองเกษตรกรรม และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นสมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต และได้เป็นผู้ได้รับพระราชทานนามสกุล ณ ระนอง
คอซิมบี๊เป็นบุตรคนสุดท้องของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซูเจี้ยง ณ ระนอง) ซึ่งเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 3 และนางกิม ณ ระนอง ชื่อ “ซิมบี๊” เป็นภาษาฮกเกี้ยน แปลว่าผู้มีจิตใจดีงาม
เมื่ออายุได้ 9 ขวบ ได้ติดตามบิดาไปประเทศจีน ศึกษาภาษาจีนและการทำธุรกิจ ทำให้ท่านไม่มีโอกาสเรียนหนังสือไทย แต่สามารถเขียนภาษาจีนและพูดได้ถึง 9 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ มลายู ฮินดู จีน และอื่น ๆ อีก 5 ภาษา ท่านเพียงแค่ลงลายมือชื่อตัวเองได้เท่านั้น
พออายุได้ 25 ปี บิดาถึงแก่อนิจกรรม คอซิมก๊อง พี่ชายก็นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 5 ได้รับรับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นหลวงบริรักษ์โลหวิสัย ผู้ช่วยว่าราชการเมืองระนอง ต่อมาอีกสามปี ได้เป็นพระอัษฎงคตทิศรักษา ผู้ว่าราชการเมืองตระ (กระบุรี) ต่อมาอีกห้าปีในปี พ.ศ. 2433 ได้เป็นพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ผู้ว่าราชการเมืองตรัง และในอีกสิบปีต่อมา (พ.ศ. 2444) ได้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต
เมืองตรังจากความไม่ตั้งใจ
ก่อนจะเป็นเมืองตรังรุ่งเรือง ระนองกำลังบูมมากกว่าเพราะขุดแร่ได้เยอะมาก เรียกได้ว่าเป็นรายได้สำคัญของประเทศ จึงมีการขยับขยายเมืองโดยรอบเพราะคิดว่าน่าจะมีแร่เหมือนกัน แต่เอาเข้าจริงกลับไม่มีเลย และยังเป็นเมืองกันดาร คอซิมบี๊เลยจัดการพัฒนาทุก ๆ ด้าน ช่วงที่ท่านเข้ามานั้นประจวบเหมาะพอดี เพราะชาวบ้านชาวเมืองร้องเรียนผู้ว่าตรังคนก่อนว่าเอารัดเอาเปรียบ รังแกประชาชน
พอพระยารัษฎามาอยู่ ปัญหาเหล่านั้นก็หายไป
นักปกครองผู้ลือนาม
เมื่อรับตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง ก็ได้พัฒนาปรับปรุงสภาพหลายอย่างในตรังให้เจริญรุ่งเรือง มีกุศโลบายแยบยล เช่น การตัดถนนที่ไม่มีใครเหมือน ส่งเสริมการเกษตรอย่างเลี้ยงไก่ ถอนกาฝากจากต้นไม้ ปลูกกาแฟ ยางพารา โดยใช้กุศโลบายว่าเจ้าเมืองต้องการสิ่งเหล่านั้นไปทำอะไร ทำให้ชาวเมืองทำอย่างเต็มอกเต็มใจ
ในด้านรักษาความสงบเรียบร้อย ได้ซื้อเรือกลไฟไว้เป็นพาหนะตรวจลาดตระเวน บังคับให้ทุกบ้านต้องมีเกราะตีเตือนภัยหน้าบ้าน หากบ้านใดได้ยินเสียงเกราะแล้วไม่ตีรับจะมีโทษ เป็นต้น
ท่านใช้หลักบริหารปกครองแบบเมตตาเหมือนพ่อ-ลูก ใครไม่ปฏิบัติตามก็จะลงโทษ แต่ลงโทษโดยให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่นไปไถนา หรือชาวบ้านถือมีดพร้าผ่านมาก็จะขอดู ถ้าพบว่าขึ้นสนิมก็จะดุกล่าวตักเตือน แม้ข้าราชการก็อาจถูกตีศีรษะต่อหน้าธารกำนัลถ้าทำผิด
ท่านจะถือไม้เท้าไว้ เหมือนถือไม้ตะพดท่านเจ้าคุณที่แท้ทรู…
ดูแลกระทั่งให้ชาวบ้านสวมเสื้อผ้าเวลาออกจากบ้าน
ท่านเป็นนักปกครองที่สามารถเป็นนักพัฒนาที่ทันสมัย มุ่งพัฒนาบ้านเมืองในหลักสำคัญ 5 ประการ คือ การคมนาคมสื่อสาร การศึกษา การสาธารณสุข การเกศตรกรรม การค้าขาย การปราบปรามโจรผู้ร้าย และการรักษาความสงบ โดยวางแผนการพัฒนาไว้ล่วงหน้าทุกจังหวัด และแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม (ภายหลังท่านเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ดูแลหัวเมืองตั้งแต่ภูเก็ต ตรัง พังงา กระบี่ ตะกั่วป่า ระนอง สตูล มีผลงานเลื่องลือไปถึบมลายูกับปีนัง)
นอกจากนี้ยังพัฒนาเมืองท่าอย่างเมืองกันตัง (ปัจจุบันคืออ.กันตัง) ให้เจริญรุ่งเรืองแทนควนธานี เป็นศูนย์กลางการเดินเรือและค้าขายสมัยนั้น
นักปกครองและพัฒนาสมัยใหม่
ว่ากันว่าความสมัยใหม่และการเป็นนักคิดนักวางแผนของท่านไม่ธรรมดา ตอนเช้าท่านจะจิบน้ำชา คิดวางแผนกลยุทธ์ แผนงานต่าง ๆ ให้นำไปปฏิบัติในช่วงสายจนถึงบ่าย พอใกล้ตกเย็นท่านจะมาตรวจว่าทำเป็นอย่างไรบ้าง หรือทำตามที่กำหนดหรือไม่ ได้ไม่ได้ ดีไม่ดีก็จัดการกันไป แล้วก็จะคอยเดินร้านย่านตลาดสม่ำเสมอ สำรวจทุกข์สุขของชาวเมือง จึงเป็นที่รักใคร่ของประชาชนมาก
มักน้อย ถ่อมตน
ท่านเป็นเจ้าเมืองตรังนานถึง 10 ปี และดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ดูแลเมืองตะวันตกหลายเมือง มีผลงานเป็นที่ชื่นชมนับถือ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี แต่พระยารัษฎาก็ได้ปฏิเสธไป ครั้นพอจะทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ พระยารัษฎาก็ปฏิเสธไปอย่างนิ่มนวลอีก ท่านพอใจจะขอเป็นสมุหเทศาภิบาลที่มณฑลภูเก็ตต่อไป จากนั้นร.6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสายสะพายช้างเผือกชั้นที่ 1 และถือว่าพระยารัษฎาเป็นพระสหาย สามารถห้อยกระบี่เข้าเฝ้าฯ
อนิจกรรมจากโทสะของคนใกล้ชิด
พระยารัษฎานุประดิษฐ์ถึงแก่อนิจกรรมด้วยฝีมือของหมอจันทร์ ที่ท่านชุบเลี้ยงใกล้ชิด
หมอจันทร์เดิมเป็นหมออยู่ในกรมทหารเรือแต่ให้ถูกออกราชการ พระยารัษฎานำมาชุบเลี้ยงได้เป็นหมอประจำจังหวัดตรัง หมอจันทร์แอบมีนางซิ่วเป็นภรรยาลับ ซึ่งเป็นสาเหตุของเรื่องเศร้านี้
ก่อนเกิดเหตุไม่กี่วัน พระยารัษฎาฯ ได้เรียกบรรดาข้าหลวงประจำจังหวัดต่างๆ
ในมณฑลภูเก็ตรวมทั้งพระสถลสถานพิทักษ์ (คอยู่เกียด ณ ระนอง)
ข้าหลวงประจำจังหวัดตรัง ไปประชุมที่ภูเก็ต เมื่อประชุมเสร็จ พระยารัษฎาฯ
ได้เดินทางไปปีนัง เพื่อรักษาสุขภาพ แล้วจะกลับมาตรวจราชการในจังหวัดต่างๆ ต่อไป
พระสถลฯ ได้นั่งเรือเทพกษัตรีกลับเมืองตรัง
มีข้าราชการเมืองพังงาอาศัยมาด้วยหลายคนเพื่อจะไปลงที่เกาะปันหยี จ.พังงา
ระหว่างนั้น ได้พบว่า มีหญิงชื่อซ่วน หรือซิ่ว
อาศัยมาด้วยโดยมิได้รับอนุญาต จึงถูกไล่ลงที่เกาะปันหยี
เมื่อส่งข้าราชการเมืองพังงา แล้วเรือก็แล่นต่อไปยัง จ.ตรัง
หมอจันทร์ได้รับโทรเลขจากนางซ่วนให้ไปรับ แต่พระสถลฯ ไม่อนุญาต
เพราะเจ้าคุณเทศา (พระยารัษฎาฯ) กำลังจะกลับมา ข้าราชการต้องอยู่ต้อนรับ
หมอจันทร์ได้โทรเลขไปบอกเจ้าคุณเทศาที่สตูล แต่ท่านจะได้รับโทรเลขหรือไม่ไม่ทราบได้
เพราะอยู่ระหว่างเดินทาง จึงไม่มีคำตอบกลับมา
หมอจันทร์ เก็บความแค้นนี้ไว้จนกระทั่ง พระยารัษฎาฯ
กลับมา เรือเทียบท่าเรือกันตัง ที่สะพานเจ้าฟ้า หมอจันทร์ระเบิดกระสุนใส่พระสถล ๒
นัด และพระยารัษฎา ๑ นัด เสียชีวิตในเวลาต่อมา
เศร้าจัง น่าสงสาร ฟังแล้วหดหู่
เรากลับออกมาเมื่อใกล้สี่โมงครึ่ง แสงสลัวโพล้เพล้ ฝนทำท่าจะตก อดไม่ได้หันไปมองหุ่นขี้ผึ้งเสมือนจริงของท่านอีกครั้ง ยังประทับใจแววตาตั้งแต่เห็นรูปถ่ายครั้งโน้น

ไว้หนูจะมาใหม่อีกนะคะท่าน
คอซิมบี๊ ในปัจจุบัน
ปัจจุบันเชื้อสายตระกูล ณ ระนองอาศัยอยู่ในจังหวัดระนอง แต่เชื้อสายตรงอาศัยอยู่ที่ปีนัง ส่วนบ้านพระยารัษฎานุประดิษฐ์หลังนี้ อยู่ใต้การดูแลของโรงเรียนกันตังพิทยากร และการบริหารจัดการของบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารทรัพย์สินเดิมของตระกูลพระยารัษฎานุประดิษฐ์
มาคิดเล่น ๆ ว่าน่าเสียดายนะคะ เดาว่าเชื้อสายท่านที่อยู่ปีนังอาจจะพูดภาษาไทยไม่ได้แล้วก็เป็นได้ (ไม่แน่ใจ เดาเอา)
แต่ก็ดีใจที่อย่างน้อยชาวเมืองตรังเห็นความสำคัญของท่าน จึงเก็บรักษาทำนุบำรุงบ้าน ข้าวของเครื่องใช้ของท่านให้อยู่ในสภาพดีสมบูรณ์ ทั้งที่ผ่านมาร้อยกว่าปี แม้จะมีเงินหมุนบำรุงไม่มาก แต่ก็ทำด้วยใจ
ใครมาตรัง อยากให้ลองแวะไปไปสัมผัสบรรยากาศเก่าแก่ อบอุ่น เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย เค้าปิดวันจันทร์นะคะ
Quick Summary
Place: พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี
Location: อ.กันตัง จ.ตรัง
เลขที่ 1 ถ. ค่ายพิทักษ์ (หลังสำนักงานเทศบาลเมืองกันตัง) ต.กันตัง อ.กันตัง จ.ตรัง 92000
Phone: 075-251 100 ติดต่อโรงเรียนกันตังพิทยากร
Date & Opening time: Tuesday – Sunday 9.00-16.30 น. (ข้อมูลล่าสุด 17 พฤศจิกายน 2562)
Entry Fee: no fee (Donation)
ข้อห้าม:
- ห้ามส่งเสียงดัง
- ห้ามนำเครื่องดื่ม และอาหารทุกชนิดเข้าในพิพิธภัณฑ์
- งดใช้แฟลชขณะถ่ายรูปหุ่นขี่ผึ้งพระยารัษฎาเพราะจะทำให้หุ่นขี้ผึ้งได้รับความเสียหาย
- ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในพิพิธภัณฑ์
- กรุณาถอดรองเท้า
ประทับใจมาก แล้วพบกันใหม่นะคะ
ติดตามเพลินได้ที่เพจ
เที่ยวเพลิน – Ploen The Journey
Instagram: ploenthejourney