เคยดูไซอิ๋วกันไหมคะ ตอนเด็กๆ ที่ออกช่องสามตอนเย็น เรื่องราวผจญภัยออกแนวอภินิหาร แฟนตาซีหน่อยๆ มีนักบวชผู้อ่อนโยน สมถะ อีกทั้งรูปงามคือพระถังซัมจั๋ง และลูกสมุนผู้ติดตาม ได้แก่ ซุนหงอคงที่เป็นลิง ตือโป๊ยก่ายที่เป็นหมู และซัวเจ๋งที่เป็นปลา เพลินจำได้ว่าตอนเด็กชอบดูมาก และคิดว่าคนแสดงเป็นพระถังซัมจั๋งหล่อดี
เพิ่งมารู้ตอนไปถึงทะเลสาบสุริยันจันทรา (SunMoon Lake) ที่เมืองนานโถว ไต้หวันเมื่อไปถึงวัดซวงกวง (Xuanguang Temple) ซึ่งอยู่ในเกาะหนึ่งของทะเลสาบ ว่าวัดนี้เป็นที่บรรจุอัฐิของพระถังซัมจั๋ง
คำถามที่ตามมาคือ ไซอิ๋ว เป็นเรื่องแต่งไม่ใช่หรือ…
พอไปค้นคำตอบจึงพบว่า พระถังซัมจั๋งมีตัวตนจริง ขณะที่นิยายไซอิ๋วนั้นเขียนหลังจากที่พระถังซัมจั๋งตัวจริงเสียไปแล้วหลายร้อยปี (ราวปี พ.ศ. 1590) เป็นการนำเอาเรื่องชีวิตของท่านมาดัดแปลงโดยคงเค้าโครงเดิมเล็กน้อย กลายเป็นวรรณกรราคลาสสิกของจีนและได้รับความนิยมสูง
พระถังซัมจั๋งตัวจริงท่านเป็นพระชื่อ “เสวี้ยนจั๋ง” เดินทางไปยังอินเดียเพื่อร่ำเรียนพระธรรม เพราะท่านรู้สึกว่าพระธรรมคำสอนในคัมภีร์ต่างๆ ที่มีใช้กันอยู่นั้นไม่สมบูรณ์ และยังไม่ถ่องแท้มากนัก จึงอยากไปศึกษาถึงแหล่งต้นกำเนิดพระศาสนา ระหว่างเดินทางรอนแรมไปอินเดียจึงได้เขียนบันทึกขึ้น เล่าถึงการเดินทางผ่านเส้นทางสายไหม ไปยังดินแดนต่างๆ ผ่านเมืองโบราณสำคัญหลายๆ เมืองทั้งในจีน เอเชียกลาง และอินเดีย ได้พบผู้คน วัฒนธรรมหลากหลาย และภูมิประเทศที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้งแทรกเรื่องการเมืองการปกครองในบ้านเมืองนั้นๆ ไว้ด้วย เรียกชื่อบันทึกนั้นว่า “ต้าถังซีโหยวจี้” แปลว่า “จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง” แหล่งข้อมูลชั้นดีในการศึกษาโลกยุคโบราณ
พระเสวี้ยนจั๋งเรียนพระธรรมในมหาวิทยาลัยนาลันทา อินเดียอยู่นาน 17 ปีจึงกลับถึงจีน รวมใช้เวลาถึง 19 ปี และสามารถอัญเชิญพระไตรปิฎกมาที่จีนได้สำเร็จและเป็นส่วนสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วจีน
กล่าวง่ายๆ ก็คือ พระเสวี้ยนจั๋ง มีตัวตนจริง แต่เป็นคนละคนกับ พระถังซัมจั๋งในเรื่องไซอิ๋ว เพราะไซอิ๋วเป็นเรื่องแต่งขึ้น
ช่วงปี ค.ศ. 1942 ที่มีสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับจีน ทหารญี่ปุ่นเข้าคุมเมืองนานจิงอยู่และทำให้พระธาตุ หรืออัฐิพระเสวี้ยนจั๋ง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกชื่อว่า Master Xuan Zang ตกไปอยู่กับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็เอากลับไปบูชาที่วัดTseng Shang พอสงครามยุติลงจึงมีการเจรจากันระหว่างสองประเทศ ตอนแรกยังคงให้พระธาตุอยู่ที่ญี่ปุ่นเพื่อให้คนญี่ปุ่นรู้จักพระเสวี้ยนจั๋ง และเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปด้วย แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1955 ทางจีนจึงคุยอีกครั้งเพื่อขอให้นำพระธาตุกลับมาไว้ที่จีน คุยกันไปมาจึงได้ข้อสรุปว่าแบ่งส่วนหนึ่งไว้ที่ญี่ปุ่น อีกส่วนหนึ่งนำมาที่ไต้หวัน
พระธาตุของพระเสวี้ยนจั๋งจึงได้กลับมาประดิษฐานอยู่ที่วัดซวงกวงในทะเลสาบสุริยันจันทรา ตอนแรกเป็นวัดเล็กๆ ต่อมาจึงสร้างวัดสวยงามเป็นเกียรติและมงคลแก่พระเสวี้ยนจั๋ง (May 28, 1965) จนถึงทุกวันนี้
(Credit: Information Plates at Xuanguang Temple)
เพลินเข้าไปไหว้ สวดมนต์และมองพระพักตร์ท่านสักครู่ใหญ่ รู้สึกอบอุ่นขึ้นมาทันที อาคารที่ประดิษฐานไว้นั้นไม่ใหญ่นัก สะอาด เรียบง่ายอย่างที่เห็นในรูปดีค่ะ และแม้นักท่องเที่ยวจะเยอะแต่ไม่วุ่นวาย ไม่สกปรก เห็นแล้วอยากให้ที่ไทยดูเป็นตัวอย่างและนำมาปรับใช้บ้างค่ะ
– เที่ยวเพลิน – Wander the World